ข้าวแช่ เมนูคู่ฤดูร้อน


ข้าวแช่

เข้าเดือนเมษายนแล้ว สิ่งที่มากับเดือนนี้คือความร้อนระอุ จนทำให้เกิดวัฒนธรรมเพื่อคลายร้อนมากมาย เช่น เทศกาลสงกรานต์ ที่เป็นหนึ่งในเทศกาลที่ผู้คนต่างรอคอยความสนุกสนานและการสาดน้ำเย็นๆ นอกจากเทศกาลแล้วยังมีการคิดอาการการกินเพื่อช่วยในการดับร้อนหรือคลายร้อน ที่นึกขึ้นได้ก็คงจะเป็นของหวานที่ช่วยคลายร้อน และมีอาหารคาวอย่างหนึ่งที่สามารถช่วยคลายร้อนและเป็นเมนูคู่ฤดูร้อน คือ ข้าวแช่ 

ข้าวแช่ เป็นชื่ออาหารชนิดหนึ่ง มีข้าวสุกขัดแช่น้ำเย็น ซึ่งมักเป็นน้ำดอกไม้ แล้วกินกับเครื่องกับข้าวต่าง ๆ เช่น ลูกกะปิ พริกหยวกสอดไส้ เนื้อเค็มฝอยผัดหวาน หัวหอมสอดไส้ ผักกาดเค็มผัดหวาน ปลาแห้ง และเครื่องผัดหวานต่าง ๆ นิยมรับประทานในหน้าร้อน ปัจจุบันอาจใส่น้ำแข็งในข้าวแช่ด้วย 

เดิมทีแล้ข้าวแช่เป็นอาหารพื้นบ้านของชาวมอญ เรียกว่า เปิงด้าจก์ แปลว่า ข้าวน้ำ หรือ เปิงซังกราน แปลว่า ข้าวสงกรานต์ นิยมทำสังเวยเทวดาและถวายพระสงฆ์ในตรุษสงกรานต์ ข้าวแช่เป็นที่รู้จักมากขึ้นจากครั้นเจ้าจอมมารดาซ่อนกลิ่น เจ้าจอมเชื้อสายมอญทางเจ้าพระยามหาโยธา (เจ่ง คชเสนี) ได้ติดตามพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวไปถวายราชการที่พระนครคีรี จังหวัดเพชรบุรี และได้ถ่ายทอดการทำข้าวแช่แก่บ่าวไพร่จนแพร่หลายในจังหวัดเพชรบุรีและในราชสำนัก เมื่อสิ้นรัชกาลพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวในปี พ.ศ. 2453 แล้ว ข้าวแช่จึงได้เผยแพร่ไปนอกวังและถูกปรับปรุงเพิ่มจนกลายที่นิยม

กับข้าว หรือเครื่องเคียงกินคู่ข้าวแช่

เครื่องเคียงแบบชาวมอญ ได้แก่ ลูกกะปิทอด ปลาป่นหวาน กระเทียมดองผัดไข่ ผักกาดหวานผัด ยำขนุนอ่อน ยำปูเค็มกับมะม่วงดิบ ซึ่งถ้าเป็นสำรับอาหารที่ใช้ในการบวงสรวงจะมี ก๋วยเตี๋ยวผัด (คือผัดไทย) ขนมปัง กะละแม และข้าวเหนียวแดงด้วย

เครื่องเคียงแบบไทย ได้แก่ ลูกกะปิทอด พริกหยวกสอดไส้ ปลายี่สกผัดหวาน เนื้อเค็มฝอยผัดหวาน หัวหอมสอดไส้ ผักกาดเค็มผัดหวาน ปลาแห้งผัดหวาน หมูสับกับปลากุเลา และเครื่องเคียงที่นิยมกินแกล้มกับข้าวแช่ ก็คือผักสดแกะสลักไว้อย่างสวยงาม

วิธีการรับประทานข้าวแช่

สำหรับการรับประทานข้าวแช่ บางคนมองว่าเป็นเรื่องที่ยุ่งยาก และไม่เข้าใจ แต่จริงๆ แล้วการรับประทานข้าวแช่เป็นอะไรที่ง่ายมาก เพียงแค่เริ่มต้นด้วยการกินเครื่องคาวเป็นอันดับแรกอย่างลูกกะปิ ปลายี่สก และเครื่องคาวอื่นๆ แล้วไปต่อเครื่องหวานอย่างละเล็กน้อย จากนั้นก็วกกลับมากินเครื่องคาวอีกครั้งก็สามารถทำได้ สิ่งสำคัญที่สุดคือการไม่ตักเครื่องเคียงใส่ในชามข้าวแช่ เพราะจะกลบกลิ่นหอมของดอกไม้และควันเทียน แถมยังทำให้น้ำมีกลิ่นคาวไม่น่าทาน และทางที่ดีควรมีช้อนตักแยกระหว่างเครื่องเคียงกับข้าวแช่